ถ้าผู้อ่านท่านใดเคยมีโอกาสเดินทางออกไปต่างประเทศ เชื่อว่าทุกคนน่าจะมีอาการคล้ายๆ กัน คือยามที่ต้องจับจ่ายใช้เงินทอง ต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดี  

และหากคุณต้องเสียเงิน 1 ล้านบาทในช่วงเวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมง บนแผ่นดินที่ไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนของคุณ ต่อให้ร่ำรวยเพียงใด ก็ย่อมต้องรู้สึกอะไรบ้าง ไม่มากก็น้อยกับเม็ดเงินที่สูญไป?

ในวันสุดท้ายของการเดินทางมายังประเทศญี่ปุ่น เรามีนัดพูดคุยกับ “ไคโจ้-เค” ณัฐพล นาคสินธุ์ ชายไทยวัย 39 ปี โปรโมเตอร์มวยไทย ศึกวันกิ่งทอง เจแปน และเจ้าของกิจการค่ายมวยไทย น.นาคสินธุ์ โตเกียว ที่ย่านอคาบาเนะ (Akabane) ซึ่งเป็นที่ตั้งของยิมสอนมวยไทยของเขา

ณัฐพล เปิดอกคุยแบบตามตรงกับ Main Stand ว่า เขาเคยขาดทุนจากการจัดมวยไทยในญี่ปุ่น ตีเป็นเงินไทยไฟต์ละ 1 ล้านบาทมาแล้ว อีกทั้งผลประกอบการกิจการของเขาตลอด 1 ปีแรก ก็ขาดทุนติดลบตลอดทุกเดือน

เรื่องราวของ ณัฐพล จึงมีมากกว่าแค่การเป็น “คนจัดมวย” ที่เอานักชกไทยมาต่อยกับนักมวยญี่ปุ่น เพราะหลายสิ่งที่เขาถ่ายทอดให้เราฟัง น่าจะทำให้ผู้อ่านได้เห็นอีกหลากหลายแง่มุม ในโลกแห่งธุรกิจกีฬาในญี่ปุ่น ที่คนไทยอาจไม่เคยรู้มาก่อน

จากนักมวยสู่เจ้าของยิม 

“ความจริงตอนที่เลิกชกมวย ผมไม่ได้มีความคิดอยากกลับมาทำงานที่ญี่ปุ่นแล้วนะ คือถ้าให้มาเที่ยวญี่ปุ่น อยากมา แต่ให้มาทำงาน เปิดค่ายมวย เป็นครูมวย ไม่มีความคิดตรงนั้นแล้ว เพราะตอนที่เรามาทำงานที่ญี่ปุ่น เราแค่ต้องการพื้นที่ในการต่อยมวย”

UFABET

ณัฐพล นาคสินธุ์ หรือชื่อในการชกมวย “เค ลูกพระบาท” ย้อนความหลังถึงจุดเริ่มต้นในการทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่ได้มาในบทบาทหัวหน้าคณะ หรือโปรโมเตอร์ แต่เขาเริ่มต้นจากการเป็น “นักมวย” 

เขาคือบุตรชายของ วินัย นาคสินธุ์ หรือ “กิ่งทอง ลูกพระบาท” อดีตนักมวยดีกรีแชมป์เวทีมวยราชดำเนิน ที่ผันตัวเองมาเป็น ครูมวย, หัวหน้าคณะ และโปรโมเตอร์ผู้จัดมวย ถึงแม้เขามีความฝันที่อยากเดินตามเส้นทางนักชกอาชีพเหมือนอย่างคุณพ่อ แต่พ่อของเขาก็ไม่สนับสนุนนัก จนเจ้าตัวมีความคิดอยากแขวนนวม

กระทั่งเมื่ออายุได้ 22 ปี ณัฐพล ได้รับโอกาสจาก เสี่ยเล็ก S.K.V ยิม ให้เดินทางมาชกมวยที่ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ในรูปแบบ MMA ก่อนที่เขาจะถูกทาบทามจาก แสนชัย โจ๊กเกอร์ ชักชวนให้มาทำงานเป็นครูสอนมวย และชกมวยไทยเต็มรูปที่ญี่ปุ่น เป็นระยะเวลา 4 ปี กระทั่งเกิดอาการบาดเจ็บเอ็นเข่าฉีก ทำให้เขาตัดสินใจอำลาสังเวียนและบินกลับมาช่วยกิจการที่บ้าน

“ผมกลับมาไทยในช่วงที่ครอบครัวประสบปัญหานิดหน่อย ที่ต้องออกมาทำค่ายมวยเอง แล้วช่วงนั้นเวทีราชดำเนิน ไม่ค่อยมีคนดู ไหนจะมีเรื่องม็อบประท้วงอีก คนไม่เข้าสนาม จนโปรโมเตอร์หลายท่านลาออกกันเยอะ พ่อผมก็ท้อเหมือนกัน เพราะค่าเช่าสนามเหมือนเดิมไม่ได้ลดลง”

“ตอนนั้นขาดทุนทุกไฟต์ ทำใจไว้เลยว่าปีหนึ่งมีขาดทุนต่ำๆ เป็นล้าน ยอมรับว่าเหนื่อยมาก ติดลบมาตลอด 4-5 ปี แต่ที่ต้องทำต่อ ล้มเลิกไม่ได้ เพราะถ้าศึกวันกิ่งทองเลิกจัด มันจะส่งผลกระทบเป็นโดมิโน ค่ายมวยตามต่างจังหวัดที่มาชกในรายการของพ่อ เด็กนักมวยภูธรอีกเท่าไหร่ที่จะขาดโอกาส หากเราเลิกจัด” 

“ก็ต้องประคับประคองหารายได้จากทางอื่น เช่น เอาคนญี่ปุ่น คนจีน มาเรียนมวยไทยที่ค่าย เพื่อนำเอารายได้จากส่วนนี้ ไว้สำรองเวลาจัดมวยขาดทุน ซึ่งผมเองก็ยังมีคอนเนกชั่นที่ดีกับทางญี่ปุ่น ทุกปีก็ต้องบินขึ้นมาญี่ปุ่น 3-4 ครั้งเพื่อพานักมวยไทยไปชก อาจเป็นเพราะผมคุยกับทุกคนทั้งในวงการมวยไทยที่ไทย และที่ญี่ปุ่น” 

 

หนึ่งในมิตรสหายของ ณัฐพล ในญี่ปุ่น ที่ยังติดต่อคบหากันอยู่ตลอด คือ ทาเกฮิโตะ วาทาเบ หนุ่มนักธุรกิจที่เคยมาเรียนมวยไทยกับ ณัฐพล เขาทั้งคู่ยังคงนัดเจอกันอยู่เสมอ ยามที่ ณัฐพล ขึ้นมาทำธุระที่ประเทศญี่ปุ่น แล้ววันหนึ่ง วาทาเบ ก็เอ่ยปากชวน ณัฐพล มาทำธุรกิจมวยไทยในต่างแดน โดยที่คู่หูชาวไทยคนนี้ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในอนาคต เขาจะต้องพบเจอกับอะไร

“เขาก็พูดขึ้นมาว่า ‘ไหนๆ ก็ขึ้นมาญี่ปุ่นบ่อยขนาดนี้ ทำไมไม่เช่าบ้านหรือเปิดค่ายมวยของตัวเองล่ะ’ ผมตอบกลับไปแบบติดตลกว่า ‘คุณก็ไปหาที่มาสิ’ เพราะเรารู้ว่าที่ดินในญี่ปุ่นมันแพงมาก”

“ผมกลับไทยไปได้สักระยะ เขาก็โทรตามให้บินมาญี่ปุ่นสัก 3 อาทิตย์ บอกว่า หาที่ได้แล้วนะ ผมก็ขึ้นมาดู มันเป็นห้องโล่งๆ กว้างๆ อยู่ในโตเกียว แต่ค่าที่มันแพงมาก แถมยังต้องเสียค่าล่วงหน้าอีก 8-9 แสน ผมก็บอกว่าถ้าต้องเสียส่วนนี้ ผมไม่ทำนะ เพื่อนผมก็ควักเงินออกค่าล่วงหน้าให้เอง” 

“ตัวผมก็กลับไปนอนอยู่โรงแรม ผ่านไป 1 อาทิตย์ กลับมาดูอีกที เพื่อนผมไปซื้อจิกซอว์มาปูพื้นหมดแล้ว ก็เลยให้เพื่อนคำนวณมาว่าทำเวที ซื้ออุปกรณ์ กั้นห้องน้ำ เดินสายไฟ ตกแต่งทั้งหมด ค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็อยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้าน ก็หารกันคนละประมาณ 7 แสนกว่า”

 

 

ในปี 2017 ค่ายมวย น.นาคสินธุ์ โตเกียว เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางการร่วมแสดงความยินดีจากผู้คนในวงการมวยไทย

ความคิดตอนแรกของ ณัฐพล เขาเชื่อว่าธุรกิจนี้น่าจะคืนกำไรให้เขาได้ในเวลาไม่ช้า เนื่องจากเขาเองก็รู้จักกับคนในวงการมวยญี่ปุ่นเยอะ มีลูกศิษย์มากมาย แถมยังเคยเป็นอดีตนักมวยไทยในญี่ปุ่นด้วย

ชื่อเสียงเหล่านี้น่าจะส่งผลต่อธุรกิจของเขา ทว่าความเป็นจริงกับตรงข้ามกับสิ่งที่คิด ณัฐพล และ วาทาเบ ขาดทุนตลอดปีแรกที่ทำยิม จนต้องโทรไปขอยืมเงินครอบครัว

“ตอนแรกที่เปิดยิม คิดว่าถ้าเรามีคนมาเรียนมวยไทยสัก 300-400 คน คงรวยแน่ เพราะเรารู้จักคนเยอะ คิดว่า 200 คนได้แน่ แต่ความจริงไอ้การที่เรารู้จักคนเยอะ ไม่แปลว่าเขาจะยอมเสียเงินมาเรียนมวยไทยกับเรา อีกอย่างบางคนที่เขารู้จักเรา บ้านเขาไม่ได้อยู่แถวยิมเรา เดินทางมาเรียนลำบาก”

“3 เดือนแรกที่เปิดยิม มีคนมาสมัครเรียนแค่ 10 คน เก็บมาได้เงินมาแค่เดือนละ 2 หมื่นกว่าบาท แต่เราต้องจ่ายค่าเช่าเดือนละ 350,000 เยน ตีเป็นเงินไทยก็ประมาณ 1 แสนบาท ค่าน้ำ ค่าไฟต่างหากอีก ค่าแรงครูฝึกไม่คิด เพราะผมสอนเอง ผมไม่มีเงินเดือน เท่ากับว่า รวมๆ ขาดทุนเดือนละ 1.2 แสนบาท หักค่าเรียนที่เก็บได้ เท่ากับว่า 3 เดือนแรก เราขาดทุน 9 หมื่นบาท หารคนละครึ่งกับเพื่อนทุกเดือน”

“ผ่านไปครึ่งปี เริ่มมีนักเรียน 30-40 คน คิดว่าน่าจะไม่ขาดทุน ก็ยังขาดทุนอีก 2-3 หมื่น แล้วถ้าคิดแบบละเอียด ที่ผมกินอยู่ค่าใช้จ่ายประจำวัน 3 คน ผม ภรรยา และลูกสาว ที่อยู่ญี่ปุ่นทุกวันล่ะ ตีเป็นเงินเท่าไหร่ เพราะผมไม่มีเงินเดือน” 

“ยอมรับว่าตอนนั้นเหนื่อยมาก บางครั้งไม่มีเงินจริงๆ ก็ต้องโทรกลับไปที่บ้าน ‘พ่อครับ ยืมเงินหน่อยครับ’, ‘แม่ยายครับ ยืมเงินหน่อยครับ’”

“บางทีผมก็เคยถามตัวเองนะว่า เราจะเอาเงินที่บ้านมาถลุงทำไมวะ แต่ในเมื่อเราเดินหน้ามาขนาดนี้แล้ว มันถอยหลังไม่ได้แล้ว ก็กัดฟันสู้ ปีแรกของการทำยิม ไม่มีคำว่ากำไรเลย ขาดทุนทุกเดือน”

ขาดทุนเป็นล้าน 

ความพยายาม และการลงแรงเงิน แรงกายของ ณัฐพล ไม่สูญเปล่า เมื่อเข้าสู่ปีที่สองการทำยิมมวยไทย ยอดคนสมัครเรียนก็เพิ่มขึ้นแตะหลักร้อยคน จนเกินกำลังที่เขาจะสอนคนเดียวไหว เขาจึงตัดสินใจดึงเด็กไทยจากค่ายมวย น.นาคสินธุ์ ที่ไทย ให้ขึ้นมาช่วยงานเป็นเทรนเนอร์ พร้อมกับผลักดันให้ชกตามรายการต่างๆ ในญี่ปุ่น

 

แต่เกณฑ์ในการเลือกนักมวยที่ขึ้นมาทำงานด้วยกันของ ณัฐพล อาจแปลกประหลาดนิดนึง ตรงที่เขาจะเลือกดึงเอาเด็กเกเร ที่สร้างปัญหา แทนที่จะมองหาเด็กดี เพราะเขามองว่า ถ้าเด็กเกเรเหล่านั้นได้มาอยู่ในวัฒนธรรม สังคมการทำงานในญี่ปุ่น สภาพแวดล้อมต่างๆ หน้าที่การทำงานที่พวกเขาต้องรับผิดชอบ จะช่วยขัดเกลาให้เด็กๆ เหล่านี้ดีขึ้น

“ผมเชื่อว่าเด็กทุกคนไม่มีใครอยากโตมาแล้วเกเรหรอกครับ เพียงแต่บางทีด้วยสภาพแวดล้อม เขาอาจหลงผิดไป สาเหตุที่ผมคัดเอาแต่เด็กเกเรขึ้นมาญี่ปุ่น เพราะพวกเด็กดี ให้เขาอยู่เมืองไทย เขาก็มีอนาคตที่ดี แต่เด็กเกเร ถ้าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเขาได้ เราได้บุญนะ เราต้องให้โอกาสเขาได้ลองปรับตัว ให้เขาได้มีคุณค่า”

หลังเปิดทำการมาได้ 1 ปีครึ่ง แม้ตัวเลขของผู้ที่สมัครเรียนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่ถึงจำนวนที่ ณัฐพล รู้สึกพึงพอใจ เขาจึงคิดหาวิธีที่จะทำให้ ยิมของ น.นาคสินธุ์ โตเกียว เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และวิธีนั้นคือการจัดมวยไทยในญี่ปุ่น ในชื่อ ศึกวันกิ่งทอง เจแปน

 

“การจัดมวยที่ญี่ปุ่นเป็นอะไรที่ยุ่งยากกว่าการจัดมวยที่ราชดำเนินมาก สมมุติคุณเป็นคนรวย โปรไฟล์พอใช้ได้ มีเงินสัก 5 ล้านบาท คุณก็ได้เป็นโปรโมเตอร์ที่ราชดำเนินแล้ว แต่ที่ญี่ปุ่นการจัดมวยนั้นเต็มไปด้วยเงื่อนไขมากมาย”

“ครั้งแรกที่ผมจัดมวย ผมเช่าสนามกีฬาประจำอำเภอ ซึ่งเป็นสถานที่ของรัฐ สำหรับให้เด็กมาจองแข่งขัน ค่าเช่าถูกมาก ประมาณ 15,000 บาท แต่เราต้องปูผ้าเอง เอาเวที เก้าอี้ มาตั้งเอง ทุกอย่างเบ็ดเสร็จค่าใช้จ่ายตกอยู่ประมาณ 120,000 บาท และเมื่อถึงเวลา 4 ทุ่ม เราต้องเก็บทุกอย่างให้เรียบร้อย ไฟต์นั้นผมก็เชิญคนไทยขึ้นมาดูการชกด้วย แต่เราไม่รู้กติกาบ้านเขา ห้ามกินเหล้าเบียร์ เผอิญวันนั้นตอนเก็บของ เหลือกระป๋องเบียร์แค่ 1 ใบ เขาก็แบนเราไม่ให้ใช้สนามนี้อีกเลย”

เมื่อไม่สามารถใช้สนามประจำอำเภอได้ ณัฐพล จึงเปลี่ยนความคิดมองหาสนามมวยที่น่าจะทำให้ ยิมของเขาเป็นที่รู้จักได้อย่างรวดเร็วที่สุด และสังเวียนนั้นก็คือ “เวทีมวยโคระคุเอ็น” ที่ติดกับ “โตเกียวโดม” ซึ่งเป็นสังเวียนมวยมาตรฐานระดับประเทศ จุผู้ชมได้ 2,000 คน

ที่สำคัญ ยังไม่เคยมี โปรโมเตอร์ไทยคนไหน นำรายการของตัวเอง มาจัดในสนามมวยโคระคุเอ็น เพราะการจัดมวยในเวทีนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง และสุ่มเสี่ยงต่อการขาดทุน แถมยังเป็นที่รู้กันในวงการมวยอีกด้วยว่า สนามนี้จองคิวยากมาก

“สนามมวยโคระคุเอ็น ไม่ใช่ว่าวันนี้จองคิวแล้วเดือนหน้าจะได้คิวจัดนะครับ ต้องจองคิวกันข้ามปี เพราะวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นโควต้าของพวกสมาคมฯ และโปรโมเตอร์ที่เขามีกันอยู่แล้ว เราไปแทรกไม่ได้ ถ้าเราอยากจัดศึกวันกิ่งทองในโคระคุเอ็น ก็ต้องจัดวันธรรมดาเท่านั้น ซึ่งมันไม่มีคนแน่นอน เพราะเป็นวันทำงาน คนมาดูมวยไม่ได้”

“แต่เราก็วัดดวงคิดว่า ถ้าหาสปอนเซอร์ได้คงไม่เจ็บตัวมาก ค่าเช่าที่โคระคุเอ็นวันธรรมดา ประมาณ 450,000 บาทต่อครั้ง ครั้งแรกที่จัดก็เอานักมวยไทยเกรดบี ที่คนญี่ปุ่นพอรู้จักขึ้นมาชก คนดูน้อยไม่เป็นไร ครั้งแรกอยากเปิดตัวให้คนรู้จักก่อน เบ็ดเสร็จค่าใช้จ่าย ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่ากิน ค่าโรงแรม ค่าใช้จ่ายทุกอย่างในการจัด หักลบกลบหนี้กับค่าตั๋วที่ขายได้ ขาดทุนครั้งแรก 1 ล้านบาท เพราะเราหาสปอนเซอร์ไม่ได้ด้วย”

เสียเงินไม่ได้เสียชีวิต 

ณัฐพล และ วาทาเบ ไม่คาดคิดว่าการจัดมวยครั้งแรกในโคระคุเอ็น จะมียอดตัวเลขถึงหลักล้านบาทไทย เขาทั้งสองจึงนำเงินกองกลางที่เหลือในบัญชีของยิม เพื่อออกช่วยจ่ายค่าจัดมวยในครั้งนั้น

แต่เพราะความเชื่อใจที่ ณัฐพล และ วาทาเบ มีให้กัน ทำให้พวกเขาก้าวข้ามช่วงเวลาที่แย่ๆ ไปได้ แล้วเริ่มต้นสู้กันใหม่ ด้วยการมาลุยจัดมวยไทยสมัครเล่น ในเวทีขนาดเล็ก และจัดมวยไทยอาชีพในเวทีขนาดใหญ่

 

“สำหรับคนญี่ปุ่น ความน่าเชื่อถือเป็นอันดับ 1 ที่ผมกับเขาเชื่อใจกัน เพราะเราไม่เคยเอาเรื่องผลประโยชน์มาเป็นตัวตั้งต้น ถ้าผมคิดลงมือจะทำอะไร เขาเชื่อมั่นในตัวผม เพราะถ้าเมื่อไหร่เราคุยเรื่องเงิน เรื่องธุรกิจเป็นตัวตั้ง เราก็จะมองหาแต่ผลประโยชน์กัน แต่ถ้าเราอยากได้ใจจากเขา เราก็ต้องให้ใจเขาก่อน ก็เดินหน้าลุยกันต่อ” 

“ครั้งแรกที่ผมจัดในโคระคุเอ็น ผมขาดทุน 1 ล้าน ครั้งที่สองผมขาดทุน 90,000 บาท ครั้งที่สาม 200,000 บาท คนอื่นอาจมองว่า ขาดทุน 2 แสนเยอะ? แต่ผมมองว่าไม่เยอะ ไม่ใช่เงินสองแสนไม่เยอะ แต่เงินสองแสนที่เสียไป ผมได้พานักมวยภูธร หัวหน้าค่ายตามต่างจังหวัด ที่ทำงานกับพ่อผมมาหลายสิบปี ขึ้นมาเที่ยว มาดูมวยที่ญี่ปุ่น ประสบการณ์และความรู้สึกดีๆ ที่เขามีให้ผม มิตรภาพเหล่านั้น เป็นสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้”

“ผมจัดมวยศึกใหญ่ ผมอาจขาดทุน แต่ผมก็ได้กำไรจากการจัดมวยสมัครเล่น เวทีขนาดเล็ก เพราะที่ญี่ปุ่น ถ้าคนที่จะต่อยมวยสมัครเล่น ต้องจ่ายเงินให้โปรโมเตอร์ คนละ 1,500 บาท สมมุติผมจัดมวย 40 คู่ ผมก็ได้ค่าสมัคร 120,000 บาท หักลบค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ผมได้เงินจากตรงนี้ไฟต์ละประมาณ 9 หมื่นบาท”

บางครั้งคนเราอาจมองหาความสุขในมุมที่แตกต่างกัน บางครั้งอาจมีความสุข กับการได้ทรัพย์สมบัติ เงินทองมากมายเก็บไว้กับตัวเอง แต่บางคนอาจมีความสุขเมื่อนำเงินที่ตนเองมี ไปแลกเปลี่ยน ออกมาเป็นประสบการณ์ชีวิต หรือโอกาสที่เงินซื้อไม่ได้ให้กับใครบางคน

ณัฐพล บอกกับเราก่อนแยกย้ายว่า เขามีประโยคหนึ่งที่เปรียบเสมือนสโลแกนประจำตัว และสิ่งที่ย้ำเตือนเขาอยู่เสมอก็คือ “เสียเงินไม่ได้เสียชีวิต” เขาเชื่อว่าตราบใดที่ยังมีลมหายใจ อย่ากลัวที่จะเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ หรือต้องสูญเสียบางอย่างไป เพื่อแลกกับอะไรสักอย่าง

 

“หลายคนถามผมว่าอยู่ที่ไทยก็สบายอยู่แล้ว จะมาทำอะไรลำบากที่ญี่ปุ่นทำไม ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองลำบากนะ อยู่ไทยหรืออยู่ญี่ปุ่น ตื่นเช้ามา ผมก็ต้องอยู่กับมวยไทยเหมือนกัน เพียงแค่ทุกสิ่งที่ผมทำ ผมไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง”

“ผมจะมีคำพูดหนึ่งที่ติดตัวเสมอก็คือ ‘เสียเงินไม่ได้เสียชีวิต’ ตราบใดที่คุณยังมีชีวิตอยู่ เท่ากับคุณก็ยังมีโอกาสที่จะหาเงินได้ใหม่เสมอ ไอ้ส่วนที่ขาดทุนก็คือขาดทุน ถ้ามัวแต่คิดว่า วันนี้เราจะเสียเท่าไหร่ พรุ่งนี้จะเสียอีกเท่าไหร่ คงไม่ได้ทำงานหรอกครับ ผมไม่ใช่นักธุรกิจ ไม่ใช่นักการตลาด ผมก็เลยไม่คิดว่า การทำธุรกิจอย่างหนึ่ง ต้องได้กำไรร้อยเปอร์เซนต์”

“อย่างตัวผมมาทำมวยที่นี่ 3 ปีกว่า สมมุติคิดเป็นตัวเลขบวกลบ ผมขาดทุนอย่างต่ำ 3-4 ล้าน แต่ถามว่าก่อนหน้าที่จะมาลงทุน ผมมีเงิน 3-4 ล้านไหม? ผมก็ไม่มี ผมมีเงินลงทุนแค่ 8 แสน เท่ากับว่า 3 ล้านที่หามาได้คือกำไร”

“กำไรที่ผมได้มีกิจการเป็นของตัวเอง ลูกสาวได้เรียนที่ญี่ปุ่น ทุกปีลูกสาวผมได้เงินคืนจากภาษีที่ผมเสียไป ปีละ 8 หมื่นบาท ถ้าเขาอายุถึง 16 ปี ลูกสาวผมเรียนฟรี รักษาฟรี ได้ภาษาญี่ปุ่นด้วย ลูกสาวผมได้โอกาสที่ดีและมีอนาคตที่ดี จากเงินที่ผมเสียไป”

 

“ผมได้เพื่อน ได้พี่ ได้น้องในวงการมวย จากการเอานักมวยไทยมาชกในญี่ปุ่น เพื่อนคนหนึ่งซื้อกันได้ด้วยเงินหมื่น เงินแสนเหรอ? คุณค่าของคนๆ หนึ่งมันมีมากกว่านั้น ผมได้ชื่อเสียงของตัวเอง ของค่าย ได้ทำให้ ศึกวันกิ่งทองเป็นที่รู้จักในญี่ปุ่น ดังนั้นผมจึงไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองขาดทุนอะไรมากมาย ถ้าเรามองให้มากกว่าแค่เงินที่เสียไป” 

“เพราะอย่างที่ผมบอก เสียเงินไม่ได้เสียชีวิต ถ้ายังไม่ตาย โอกาสในการหาเงินมันมีอยู่เสมอแหละ อยู่ที่เราจะมองและลงมือคว้ามันมาหรือเปล่า” ณัฐพล นาคสินธุ์ ทิ้งท้ายกับเรา

อ่านข่าวอื่นๆที่ >>> www.ufabetwinS.com

หน้าแรก >>>https://www.optacaddy.com